ประวัติ ของ กสท โทรคมนาคม

ยุคการสื่อสารแห่งประเทศไทย

การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519[1] เพื่อดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม โดยรับโอนกิจการทั้งหมดจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ยกเว้นสำนักงานเลขานุการกรม กองสื่อสารระหว่างประเทศ กองแผนงาน และสำนักงานบริหารความถี่วิทยุ[1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546[2] และได้มีการจัดตั้งบริษัทมหาชนขึ้นแทน

ยุคบริษัทหลังการแปรรูป

ดูเพิ่มเติมที่: ไปรษณีย์ไทย (บริษัท)

กสท โทรคมนาคม เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ทำการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10,000 ล้านบาท

ทุนในการจดทะเบียนประกอบด้วย หุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาท ต่อหุ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป สามารถบริหารจัดการในรูปแบบ ของเอกชนได้เต็มรูปแบบ รวมทั้งกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการกระจายหุ้นแต่อย่างใด ยังคงเป็นกระทรวงการคลังถือหุ้นไว้ 100%[3]

ควบรวมกิจการกับทีโอที

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 อนุมัติให้ กสท. โทรคมนาคม ควบรวมกิจการกับทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และให้บริษัทแห่งใหม่มีพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบดิจิทัลต่อไป โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด 100% ตามเดิม